ลายไทยน่ารู้
ดอกบัวธรรมชาติ ต้นกำเนิดลายไทย
ลายไทยเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะประจำชาติไทยยาวนานนับศตวรรษ รูปลักษณ์ลายไทยเป็นเส้นที่อ่อนหวาน นุ่มนวล เป็นรูปลักษณ์ที่มีบ่อเกิดจากธรรมชาติ นำมาดัดแปลงเป็นลายเอกลักษณ์เฉพาะ มีการพัฒนาสืบทอดอย่างต่อเนื่อง วิวัฒนาการอย่างเป็นลำดับขั้น จนบรรลุถึงจุดสุดยอดของลวดลายไทยในยุคสมัยอยุธยาราชธานี
ลวดลายพรรณไม้ที่นำมาใช้นิยมมากคือ ดอกบัว เป็นหลักเพราะเป็นดอกไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น ไม่มีดอกชนิดใดเหมือน สูงส่ง สง่างาม เปี่ยมไปด้วยความหมายทางศิลปะวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาอันทรงคุณค่า โดยเฉพาะเส้นโค้งเว้าของดอกบัว นุ่มนวล อ่อนหวาน เป็นตัวแทนของความงดงาม เปรียบเสมือนผู้หญิง สรีระอันอ่อนช้อยที่มีความไร้เดียงสา อ่อนโยน ประเสริฐ และบริสุทธิ์ดุจดอกบัว
ดอกบัวที่เป็นบ่อเกิดของลวดลายไทย โดยมากจะใช้ดอกบัว 3 ชนิด

บัวสัตตบงกช เป็นบ่อเกิดลวดลายบัวกนก

บัวสัตตบุศย์ เป็นบ่อเกิดลวดลายกรวยเชิง

บัวหลวง เป็นบ่อเกิดของกนกนารี หรือ กนกกินนร (ถ้าเขียนลวดลายละเอียดมาก จะเรียกว่ากนกหางหงส์)
ดอกบัว เป็นพันธุ์ไม้น้ำที่มีความสำคัญกับชาวพุทธทุกคน นิยมนำมาบูชาพระ เป็นสื่อการสอน ในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธองค์เรียกบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นธรรมว่าเป็นบัวใต้น้ำ บางพวกเป็นบัวใต้โคลนตม เป็นปริศนาธรรม บัว 4 เหล่า ปรากฎในศาสนาแล้ว ยังอยู่ในเรื่องราววรรณคดี และชาดกต่างๆ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ซึ่งพระพรมพิจิตร(พรม พรมพิจิตร) ได้บันทึกอ้างเทิดพระเกียรติไว้ว่า
“เมื่ออยู่บ้านตึกดิน ตรอกกรมศิลปากร ถนนดินสอ วันต่อมาทรงถามถึงหลักวิชาการว่า สิ่งใดเป็นบ่อเกิดของศิลปะไทยรู้ไหม? จึงกราบทูลได้ว่าได้ทรงพระกรุณา ก็ดอกบัวนั้นแหละเป็นบ่อเกิดแห่งศิลปะ พึงทราบเกล้าฯ การจะผิดถูกได้ประทานพระกรุณาอันคำว่า ดอกบัวเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดว่าเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่แปลกไม่เหมือนดอกไม้ทั้งหลาย มีกลิ่นรสหอมหวานชวนชื่นอย่างประหลาด ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คล้ายจะเป็นดอกไม้ที่เทพเจ้าเนรมิตให้เป็นดอกคู่บารมี เช่น ตอนประสูตรทรงบำเพ็ญพระองค์ และในที่อื่นๆ ทั้งเป็นหัวข้ออุปมาอุปไมยแก่ปวงเวไนยสัตว์ไว้สามประการ แต่หาทราบไม่ว่าเป็นบ่อเกิดแห่งศิลปะต่อเมื่อทรงประทานความรู้จึงได้รับความซาบซึ้งยิ่งในแนวทางของศิลปะด้วยดี
หลักๆหนึ่งที่สมเด็จครูประทานให้ว่า ดอกบัวเป็นบ่อเกิดแห่งศิลปะ ทำไมจะทราบได้ว่าพระวาทะสั้นๆก็เป็นศิลปะ แต่ความใคร่ที่จะหาความรู้สืบเนื่องจาก จำต้องอาศัยเหตุนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าดอกบัวมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ศิลปะกรรมไทยจึงใช้ดอกบัวเป็นหลัก พอจะได้ความสังเขปจากคำเล่าว่า ดอกบัวเป็นดอกไม้พระ มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งนิยามว่า เป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าสูง ประเสริฐ และบริสุทธิ์ มีความนิยมแพร่หลาย ทั้งในบทประพันธ์วรรณคดี ศิลปกรรมมากมาย นักกวีนิพนธ์ชอบยกเอาดอกบัวมาสอดแทรกลงด้วยเสมอ ยิ่งตอนชมนกชมปลาแล้วจะเว้นเสียมิได้ ส่วนในเชิงศิลปกรรมนั้น มีการเกี่ยวข้องกับดอกบัวมากกว่าสิ่งอื่นใด เช่น วัดวาอาราม ตามวัตถุสถาน และอนุสาวรีย์สำคัญ ประดิษฐ์ให้เห็นว่า ชนชาติไทยนิยมทรงดอกบัว หรือสลักไม้ ปั้นปูนรูปดอกบัว กระบวนแปรในท่าต่างๆ ประดิษฐ์โดยทั่วไป”
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระพุทธเจ้าประสูติ วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร

พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า “สิทธัตถะ” เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ประสูติในตระกูลกษัตริย์ ในวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ณ สวนลุมพินีวัน เมื่อประสูติแล้วทรงพระดำเนินได้ 7 ก้าวโดยมี “ดอกบัวรองรับ ”จากนั้นจึงได้ยกพระหัตถ์ขวา และกล่าววาจาขึ้นได้ทันที
ปริศนาธรรมดอกบัว 4 เหล่า ในตำนานพระพุทธเจ้า จำแนกความโดยนัยดังนี้



บัว 4 เหล่า บุคคล 4 จำพวก
บุคคล 4 จำพวกนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ดังที่คัดมาจากพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เล่มที่ 21 ข้อที่ 133 หน้า 202 ว่า ดุกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้มีปรากฎอยู่ในโลก
- อุคฆฏิตัญญู ดั่งบัวที่โผล่พ้นน้ำ เหนือพื้นน้ำขึ้นมา พอสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์ก็จะบานทันที คือ ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง มีสติปัญญาแก่กล้า เพียงแค่ยกหัวข้อขึ้น ก็รู้แจ้งถึงธรรมได้
- วิปจิตัญญู ดังบัวที่เจริญเติบโตขึ้นมา พอดีกับผิวน้ำ แลจักบานในวันต่อมา คือผู้ที่มีกิเลสค่อนข้างน้อย มีอินทรีย์ปานกลาง ถ้าได้รับฟังคำสอน ก็สามารถรู้แจ้งเห็นธรรมได้
- เนยยะ ดั่งบัวที่จมอยู่ใต้น้ำ รอคอยเวลาที่จะโผล่ขึ้นจากน้ำ และบานในวันต่อๆไป คือผู้ที่มีกิเลสยังไม่เบาบาง ต้องหมั่นเพียรเล่าเรียน จึงสามารถรู้ธรรมได้
- ปทปรมะ ดั่งบัวใต้น้ำในโคลนตมที่มิอาจโผล่พ้นน้ำอยู่เพียงใต้น้ำ และเป็นอาหารของสัตว์น้ำ คือ ผู้มีกิเลสหนา ไม่สามารถบรรลุธรรมอันวิเศษได้เลย
ดังนั้น ดอกบัว จึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในเชิงศิลปะไทย พระพุทธศาสนา ศิลปะประจำชาติ และแสดงถึงเอกลักษณ์ของชนชาติไทยในด้านต่างๆมากมาย จึงควรศึกษาและอนุรักษ์ไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เครดิต. อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล, รัตติกาล ศรีอำไพ